วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ผลกระทบของการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน
ที่มีต่อความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษ
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
EFFECTS OF COMMUNICATION STRATEGIES INSTRUCTION BY USING TASK BASED LEARNING ON SPEAKING PROFICIENCY OF ENGLISH MAJOR STUDENTS FACULTY OF EDUCATION AT ROI-ET RAJABHAT UNIVERSITY
 อังชรินทร์  ทองปาน*
รัชฏาพร ศรีพิบูลย์**



บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  1) เพื่อศึกษาความสามารถทางการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน 2) เพื่อเปรียบเทียบการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษปีที่ 1  คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2558  ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive random sampling)ได้นักศึกษาจำนวน 30 คน ใช้ระยะเวลาในการทดลองจำนวน 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการสอนจำนวน 8 แผน  2)  แบบทดสอบวัดความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ 3) แบบสังเกตการใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน
สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ t-test แบบจับคู่ เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของ ใช้ค่าร้อยละและค่าความถี่ในการเปรียบเทียบการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการ และใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการหาระดับความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน 
ผลการวิจัยพบว่า 
1) ความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาหลังจากได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  
2) นักศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน มีการใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารหลังการทดลองมากกว่าก่อนการทดลอง
3)  นักศึกษามีความคิดเห็นต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานอยู่ในระดับดีมาก

คำสำคัญ: กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน, การสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสาร, ความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษ


นักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังการสอนกลยุทธ์
ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน

*อาจารย์ คณะครุศาสตร์ มหาวิยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
**อาจารย์ คณะครุศาสตร์ มหาวิยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด


ABSTRACT
The purposes of this research were to 1) compare English speaking proficiency of English-major students before and after being taught by communication strategies instruction by using task-based learning 2) compare the use of communication strategies before and after being taught by communication strategies instruction by using task-based learning and 3) explore students’ opinions toward communication strategies instruction by using task-based learning.
The samples of this research consisted of the purposive random sampling selected class of 30, English-major students, second semester, academic year 2015. The lasted of experiment covered 8 weeks, 3 periods a week.  The instruments for experiment were 8 lesson plans, speaking proficiency test, a set of communication strategies observation form and a questionnaire. The data were analyzed by paired t-test, percentage, frequency, mean and standard deviation.
The findings were as follows:
1. The students’ speaking proficiency after receiving communication strategies instruction by using task-based learning was significantly higher than the proficiency before at the 0.05 level.
2. The students taught by communication strategies instruction by using task-based learning use more communication strategies after the experiment than before the experiment.
3. The students’ opinions toward communication strategies instruction by using task-based learning were highly positive.

Keywords: Task-based learning, Communication strategies instruction, Speaking proficiency

บทนำ
ในสังคมปัจจุบัน การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร  การศึกษา  การแสวงหาความรู้ และการประกอบอาชีพ  ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับชุมชนโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี การวิจัย และมีการใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารในการทำงานคือภาษาอังกฤษ (The Asean charter.2008:29) การพูดเป็นหนึ่งในทักษะหลักของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและเป็นทักษะที่ผู้คนจากหลากหลายอาชีพใช้ในเวลาที่ต้องทำงานร่วมกัน (Bailey,2005:2) สำหรับบุคคลคนที่มีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารอยู่ในระดับดีก็จะมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันในเรื่องต่างๆตามสาขาวิชาที่ตนเองถนัดมากกว่าคนบุคคลอื่น (Graddol. 2006) เมื่อกล่าวถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยนั้นภาษาอังกฤษได้รับการพิจารณาว่าเป็นภาษาต่างประเทศ นั่นก็คือภาษาอังกฤษได้รับการใช้ในการเรียนในห้องเรียนเท่านั้นซึ่งมีโอกาสในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันน้อยมาก(Brown.2001) ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพูดภาษาอังกฤษของคนไทยและทำให้ความสามารถในการสื่อสารด้อยประสิทธิภาพ  ด้วยเหตุผลนี้ผู้วิจัยจึงออกแบบภาระงานด้านการพูดเพื่อการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยเน้นไปที่การสื่อสารเพื่อการสื่อความหมาย(Focusing on meaning)นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติภาระงานในการพูดที่เปรียบเสมือนชีวิตจริง (Richard & Rodgers.2001; Willis.1996) และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการใช้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ
 วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาความสามารถทางการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน 
2. เพื่อเปรียบเทียบการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน 
3. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน
สมมติฐานในการวิจัย
            1. ความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาหลังได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานสูงกว่าก่อนการเรียน 
      2. ความสามารถในการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักศึกษาหลังได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานมากกว่าก่อนได้รับการสอน
      3. นักศึกษามีความคิดเห็นต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานอยู่ในระดับมาก
วิธีการวิจัย
การวิจัยในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานและประเมินความต้องการจำเป็นที่มีต่อการเรียนการสอนภาษา
      1. ผู้วิจัยได้ศึกษาหลักสูตรและคำอธิบายรายวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร รหัสวิชา GEL1104 ของคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
2. ออกแบบเครื่องมือประเมินความต้องการจำเป็นในการเรียนภาษา(Needs analysis for language learning) โดยมีการแบ่งหัวข้อในการสอบถามได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานในการเรียนภาษา ความต้องการในการเรียนภาษา ความต้องการด้านทักษะทางภาษา(Language skills) และความต้องการด้านภาระงานในการเรียนภาษา(Tasks)  ซึ่งเก็บข้อมูลได้จาก การสอบถามศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์อาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษในคณะครุศาสตร์ เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการเรียนการสอนภาษา โดยมีการเก็บข้อมูลในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบกิจกรรมในการเรียนการสอนภาษา (Thongpan. 2015)
ระยะที่ 2 การออกแบบเครื่องมือการวิจัยและการทดลอง
ผู้วิจัยได้นำข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากระยะที่ 1 มาทำการออกแบบเครื่องมือในการวิจัยโดยมีลำดับดังต่อไปนี้
1. แผนการสอน (Lesson plans) จำนวน 8 แผน ประกอบด้วยกิจกรรมและขั้นตอนการสอนดังต่อไปนี้
    ขั้นที่ 1   ขั้นก่อนปฏิบัติภาระงาน ( Pre-task)  เป็นขั้นสร้างความสนใจในการเรียน โดยมีกระบวนการภายใต้ขั้นตอนคือ  การเตรียมคำศัพท์  การสาธิตการใช้กลยุทธ์ในการสื่อสาร (Model of communicative strategies) เป็นต้น
    ขั้นที่ 2  ขั้นปฏิบัติภาระงาน (Task cycle)  เป็นขั้นใช้กิจกรรมภาระงานด้านการสื่อสาร(Communication Task) อย่างเป็นอิสระ อาทิเช่น กิจกรรมแสดงบทบาทสมมตในการพูดเพื่อการสื่อสาร(Role-play) กิจกรรมด้านการแก้ปัญหาทางภาษา (Problem solving) กิจกรรมด้านการแบ่งปันประสบการณ์(Sharing personal experiences) และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นขั้นการพูดตามกิจกรรมการสื่อสารแต่ละประเภท
     ขั้นที่ 3  ขั้นหลังปฏิบัติภาระงาน(Post task )  เป็นขั้นที่ผู้เรียนวางแผนเพื่อรายงานเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านการสื่อสารที่ผู้เรียนได้ใช้ในขณะที่พูดภาษาอังกฤษ (Planning of communicative strategies used) โดยมีการรายงานเป็นกลุ่ม หรือ เป็นคู่ ตัวแทนกลุ่ม หรือตัวแทนคู่ สลับกันในแต่ละบทเรียน พร้อมการสะท้อนคิด (Reflecting) เกี่ยวกับการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพของตนเอง  ซึ่งแผนการสอนทั้งหมดได้มีการตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ
2. แบบทดสอบความสามารถทางการพูดภาษาอังกฤษ (Speaking tests)
แบบทดสอบความสามารถทางการพูดภาษาอังกฤษเป็นแบบทดสอบความสามารถทางการพูดแบบทางตรง (Direct speaking test) ซึ่งใช้วัดความสามารถทางการพูดภาษาอังกฤษของผู้เรียนก่อนและหลังการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน สร้างขึ้นโดยศึกษาวิธีและแนวทางด้านการสร้างข้อสอบภาษาอังกฤษของ อัจฉรา วงศ์โสธร(2538) โดยแบ่งแบบทดสอบความสามารถทางการพูดแบบทางตรงออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นแบบสัมภาษณ์ทั่วไป มีคะแนนเต็ม 20 คะแนน ส่วนที่ 2 เป็นแบบบรรยายภาพ (Picture description tasks)มีคะแนนเต็ม 20 คะแนน และส่วนที่ 3 เป็นการให้ผู้เรียนพูดเล่าเรื่องจากภาพ(Narration task) มีคะแนนเต็ม 20 คะแนน รวมคะแนนทั้งหมด 60 คะแนน โดยผู้วิจัยได้สร้างเกณฑ์การให้คะแนนการพูดแบบทางตรง (Speaking rubric) เพื่อประเมินทักษะด้านการพูดภาษาอังกฤษไว้ 5 ด้าน 1)ความถูกต้องด้านการออกเสียง(Accuracy in pronunciation) 2) ความเหมาะสมของการใช้ภาษา(Appropriateness) 3) ความเป็นธรรมชาติในการใช้ภาษา (Naturalness)4) ความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา (Fluency) 5) ความสำเร็จในการทำกิจกรรม (Task Achievement) โดยมีการตรวจสอบคุณภาพและความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) จากผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาอังกฤษจำนวน 3 ท่าน โดยใช้ค่าดัชนีความสอดคล้อง IOC (Index of Item Objective Congruence)อยู่ระหว่าง 0.80-1.00 หลังจากนั้นนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างจำนวน 10 คน เพื่อหาค่าความเชื่อมั่น(Reliability)ของเกณฑ์การประเมิน โดยที่นักศึกษาทุกคนจะได้รับการประเมินโดยผู้วิจัยและกรรมการอีก 1 ท่าน ผลปรากฏว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของ Pearson (Pearson Product Moment Correlations Coefficient)ของคะแนนระหว่างผู้ตรวจทั้ง 2 ท่านมีค่าเท่ากับ 0.86 ซึ่งหมายความว่าการให้คะแนนของผู้ตรวจมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. แบบสังเกตกลยุทธ์ในการสื่อสารภาษาอังกฤษ
แบบสังเกตกลยุทธ์ในการสื่อสารภาษาอังกฤษในครั้งนี้ผู้วิจัยได้มีการสังเคราะห์เอกสารจากนักวิชาการหลายท่าน ได้แก่ Ellis (1984), Paribakht (1985), Bygate (1995), Dornyei (1995), Gasparro (1996) และ Faerch and Kasper (1984) เห็นได้ว่าในแต่ละกลยุทธ์การสื่อสารส่วนใหญ่จะประกอบด้วยกลยุทธ์ย่อยที่มีความเหมือนกันและมีความซ้ำซ้อนกันในการเรียกชื่อและจำแนกหมวดหมู่ และนำแนวความคิดมาใช้ในการสร้างแบบสังเกตการใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารภาษาอังกฤษในลักษณะตาราง โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ  ตอนที่ 1 ประกอบด้วยช่องรายชื่อ-นามสกุลของนักศึกษา  ส่วนตอนที่ 2 ประกอบด้วยรายการกลยุทธ์ในการสื่อสาร 10 ประเภท ซึ่งใช้ในการสอนให้กับกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ กลยุทธ์ด้านการพูดภาษาแม่ปนกับภาษาเป้าหมาย (First Language-Switch Strategy) กลยุทธ์ด้านการสร้างคำใหม่ (Word Coinage Strategy) กลยุทธ์ด้านการยุติคำพูด (Message Abandonment Strategy) กลยุทธ์ด้านการถอดความ (Paraphrase Strategy) กลยุทธ์ด้านการหลีกเลี่ยงคำพูด (Topic Avoidance Strategy) กลยุทธ์ด้านการสรุปความ (Generalization Strategy) กลยุทธ์ด้านการปรับเปลี่ยนภาษาแม่กับภาษาต่างประเทศ  (Code-switching Strategy) กลยุทธ์ด้านการพูดพึมพำเพื่อขอเวลาคิด (Smurfing Strategy) กลยุทธ์ด้านกลวิธีการอธิบายความ (Circumlocution Strategy)และกลยุทธ์ด้านการใช้ภาษาท่าทาง (Paralinguistic Strategy)  ซึ่งในแต่ละรายการจะมีช่องบันทึกความถี่และรวมความถี่ของแต่ละกลยุทธ์ในการสื่อสาร   จากนั้นผู้วิจัยนำแบบสังเกตกลยุทธ์ในการสื่อสารไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาจำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบความถูกต้อง และความเหมาะสมของการนำไปใช้  หลังจากนั้นผู้วิจัยและกรรมการอีก 1 ท่านร่วมกันศึกษาทำความเข้าใจด้านความหมายของกลยุทธ์ด้านการสื่อสารในแต่ละประเภทและแบบสังเกตการใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารให้ตรงกัน  หลังจากนั้นนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัว จำนวน 5 คน แล้วนำแถบบันทึกเสียงพร้อมเกณฑ์การประเมินการใช้กลยุทธ์มาคำนวณหาค่าความสอดคล้องในการตรวจ (Inter – rater Reliability)โดยใช้โดยหาค่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของ Pearson (Pearson Product Moment Correlations Coefficient) โดยกำหนดให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ดังกล่าวมีค่าตั้งแต่ 0.80 ขึ้นไปจึงเป็นที่ยอมรับได้ (สุมิตรา อังวัฒนกุล. 2542: 110)ผลการคำนวณหาค่าความสอดคล้องของการประเมินการใช้กลยุทธ์จากแบบสังเกตกลยุทธ์ในการสื่อสารในครั้งนี้ได้ค่าความสอดคล้องเท่ากับ  0.96 ซึ่งหมายความว่าให้คะแนนของผู้ตรวจมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
4. แบบสอบถาม
แบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อภาระงานด้านการสื่อสาร จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.93
การดำเนินการวิจัย
1.       ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
            ประชากรที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้  คือนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษปีที่ 1  คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ภาคเรียนที่  2 ปีการศึกษา  2558  นักศึกษาจำนวนทั้งหมด  120  คน
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษปีที่ 1  คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร(รหัสวิชา GEL1104) ประจำภาคเรียนที่  2 ปีการศึกษา  2558  ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive random sampling) ได้นักศึกษาจำนวน 30 คน
ตัวแปรที่ต้องศึกษา
ตัวแปรต้น   คือ    การสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน 
ตัวแปรตาม คือ   
1.) ความสามารถทางการพูดภาษาอังกฤษ
2.) การใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารภาษาอังกฤษ  
3.) ความคิดเห็นที่มีต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน 
2. การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research) แบบ One-Group Pretest Posttest Design (บำรุง โตรัตน์. 2534: 29-31) โดยมีขั้นตอนดังนี้
    2.1 ทดสอบก่อนเรียน (Pretest) ผู้วิจัยให้นักศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน ทำแบบทดสอบวัดความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ โดยผู้วิจัยทำการบันทึกวีดีโอไว้เพื่อประเมินความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษและประเมินการใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารเป็นรายบุคคล
2.2 ให้นักศึกษากลุ่มตัวอย่างเรียนตามแผนที่วางไว้ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 24 ชั่วโมง
   2.3 ทดสอบหลังเรียน (Posttest) ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันกับที่ใช้ทดสอบก่อนเรียน และผู้วิจัยได้มีการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการถอดข้อความจากวีดีโอมาใช้ในการวิเคราะห์บทสนทนา
   2.4 ให้นักศึกษากลุ่มตัวอย่าทำแบบวัดความคิดเห็นที่มีต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน 
การวิเคราะห์ข้อมูล 
ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามจุดประสงค์ของการวิจัยไว้ดังนี้
1. เปรียบเทียบความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน โดยใช้ t-test แบบจับคู่
2. เปรียบเทียบการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน โดยใช้ค่าร้อยละ และค่าความถี่ ในส่วนของข้อมูลเชิงปริมานและข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการถอดรหัสการพูดภาษาอังกฤษจากวีดีโอ
3. ศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน โดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการวิจัย
1. ความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาหลังจากได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
2.  นักศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน มีการใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารหลังการทดลองมากกว่าก่อนการทดลอง
3. นักศึกษามีความคิดเห็นต่อการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานอยู่ในระดับดีมากโดยมีค่าเฉลี่ยรวมของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 4.02 (= 4.02, S.D. =0.12)


การอภิปรายผล
     1. ความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาหลังจากการเรียนด้วยภาระงานด้านการสื่อสารที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้เนื่องจากผู้วิจัยได้มีการวางแผนการประเมินที่สอดคล้องกับหลักสูตรและคำอธิบายรายวิชา ในแต่ละภาระงานด้านการสื่อสารนักศึกษามีโอกาสใช้ภาษาอย่างเป็นอิสระซึ่งถือว่าเป็นการฝึกฝนการพูดภาษาอังกฤษคล้ายสถานการณ์จริงแบบต่อเนื่อง และสอดคล้องกับแนวคิดของ Harmer (1991) ที่ได้กล่าวว่า ภาระงานเพื่อการสื่อสารควรให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ภาษาลักษณะที่คล้ายสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันซึ่งผู้เรียนจะได้ใช้ภาษาอย่างเป็นอิสระ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับความเห็นของ ณัฐกานต์ ผ่อนลำเจียก(2546) ที่กล่าวว่าผู้สอนภาษาอังกฤษควรใช้ทักษะการพูดในการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารให้กับผู้เรียน
     2. นักศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน มีการใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารหลังการทดลองมากกว่าก่อนการทดลอง  ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้    ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานเป็นกระบวนการเรียนการสอนภาษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับ Alibakhs & Padiz (2011)ที่ได้ทำการวิจัยกับการสอนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษผู้เรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาประเทศ ซึ่งใช้เวลาในการทดลองจำนวน 10 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าผู้เรียนมีการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับผลการวิจัยของ  Lam & Wong (2000) ที่ศึกษาผลของการสอนกลยุทธ์ในการปฏิสัมพันธ์เพื่อพัฒนาทักษะการพูดอภิปรายโต้ตอบกันของนักเรียนชาวฮ่องกง พบว่าปริมาณการใช้กลยุทธ์ในการปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนที่ได้รับการสอนกลยุทธ์การปฏิสัมพันธ์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง  ในส่วนกลยุทธ์ที่นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้คือ กลยุทธ์ด้านการใช้ภาษาท่าทาง (Paralinguistic Strategy)   เช่น ผู้เรียนแสดงท่าทาง การโยน เมื่อคิดคำศัพท์ คำว่า “Throw” หรือผู้เรียนใช้มือไปพร้อมๆกับการแนะนำบุคคลอื่น เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับ สุภัทรา อักษรานุเคราะห์ (2539 : 34 –36) ที่กล่าวว่า การที่บุคคลจะสื่อสารให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพนั้นนอกจากผู้สื่อสารหรือผู้พูดจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัวภาษาแล้วยังต้องรู้กฎเกณฑ์ทางสังคมที่ผู้ใช้ภาษาในสังคมนั้น ๆ ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ เช่น การสัมผัส (Touching) ระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ระยะห่าง (Distance) ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง การเคลื่อนไหวศีรษะ มือ ร่างกาย (Gesture) และการแสดงออกทางสีหน้า (Facial Expression) รองลงมาคือ กลยุทธ์ด้านการพูดพึมพำเพื่อขอเวลาคิด (Smurfing Strategyเช่น Umm ... Ahhhh ... Well ... Er ... Oh ...you know….. ตัวอย่างประโยคที่นักศึกษาใช้กลยุทธ์การพูดพึมพำเพื่อขอเวลาในการคิด เช่น  “In the classroom ....... Well..... they are discussing.”    “the next slide ....... Er ...... ,it is a main topic.”  ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สมบัติ สิริคงคาสกุล (2539: 137) และ Dornyei (1995: 55-75) ที่ว่า ผู้เรียนใช้กลยุทธ์การพูดพึมพำเพื่อขอเวลาในการคิดมาก เนื่องจากกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่มีรูปแบบทางโครงสร้างภาษาที่ไม่ซับซ้อน และช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำเนินการสนทนาต่อไปได้   และกลยุทธ์ด้านการสร้างคำใหม่ (Word Coinage Strategy)  เช่นนักศึกษาพูดว่า There is a Small Computer in the Room .” แทนคำที่ถูกต้องว่า “a Laptop”  “There is a Beautiful Bat in the Cage.” แทนคำที่ถูกต้องว่า “Hamster” ซึ่งสอดคล้องกับ Faerch & Kasper (1984) ที่ได้กล่าวว่า กลยุทธ์ด้านการสร้างคำขึ้นมาใหม่เป็นกลยุทธ์ที่ผู้เรียนภาษาต่างประเทศพยายามใช้เพื่อให้การสื่อความหมายที่มีประสิทธิภาพ
     3. ความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการสอนกลยุทธ์ในการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นภาระงานอยู่ในระดับดีมาก อาจเป็นเพราะว่าผู้วิจัยได้มีการสำรวจความต้องการทางการเรียนภาษาและกิจกรรมทางการเรียนจึงทำให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเองจึงส่งผลให้ความคิดเห็นต่อการเรียนการสอนอยู่ในระดับดีมาก
ข้อเสนอแนะ
จากผลการวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะสำหรับผู้สอนภาษาอังกฤษ
                1.1 ในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนจะต้องมีความตระหนักในการสอนกลยุทธ์ (Strategy) เนื่องจากกลยุทธ์เป็นกระบวนการ (Process) ในการเรียนภาษาของผู้เรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ ผู้เรียนจะสามารถนำกลยุทธ์ต่างๆไปใช้เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆด้านการสื่อสาร
   1.2 ผู้สอนภาษาอังกฤษควรจัดกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษทั้งในและนอกชั้นเรียน ให้ผู้เรียนมีโอกาสใช้ภาษากับเพื่อน อาจารย์ เจ้าของภาษา และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษในระหว่างการสื่อสาร เช่น ฝึกให้ผู้เรียนทำกิจกรรมคู่หรือกลุ่มย่อยในสถานการณ์การสื่อสารจริงที่พบได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งฝึกการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษในการแก้ปัญหาการสื่อสารที่อาจเกิดขึ้นได้
    1.3 ผู้สอนควรจัดให้มีการทดสอบความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนพูดแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนหรืออาจารย์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความพยายาม และความกระตือรือร้นในการฝึกพูดภาษาอังกฤษและการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของตนเองได้
2.  ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยต่อไป
     2.1 ควรทำการวิจัยเพื่อศึกษาผลของกิจกรรมภาระงานที่มีต่อความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารกับตัวอย่างประชากรที่เป็นนักศึกษาเอกอื่นๆ อาทิเช่น เอกคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ดนตรี ภาษาไทย เป็นต้น
     2.2 ควรทำการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารของผู้เรียนที่มีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษที่แตกต่างกัน














บรรณานุกรม

ณัฐกานต์ ผ่อนลำเจียก(2546).  ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักศึกษาฝึกหัดครูชั้นปีที่ 4 วิชาเอกภาษาอังกฤษมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันตก วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
บำรุง โตรัตน์(2534)การออกแบบงานวิจัยสาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.
สมบัติ สิริคงคาสกุล.   (2539).   ผลของการสอนกลวิธีการพูดเพื่อการสื่อสารที่มีต่อความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุภัทรา อักษรานุเคราะห์.  (2539).   การใช้กลวิธีเพื่อการสื่อสารกับการสอนภาษาอังกฤษ. แนวคิดและเทคนิควิธีการสอนภาษาอังกฤษ. หน้า 33-46. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุมิตรา อังวัฒนกุล.  (2540).  วิธีสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อัจฉรา วงศ์โสธร.  (2539).  การทดสอบและประเมินผลการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อัจฉรา วงศ์โสธร.  (2538).  แนวทางการสร้างข้อสอบภาษา: ตัวกระตุ้นในการทดสอบทักษะพูด.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Alibakhs,G., & Padiz,D. (2011).The effects of teaching strategic competence on speaking performance of EFL learners. Journal of Language and Research. 2(4)941-947.
ASEAN.  (2008).  The ASEAN Charter. Indonesia, Jakarta: ASEAN Secretariat. Available online at: http://www.asean.org/archive/publications/ASEANCharter.pdf. Accessed : February 5, 2016.
Bailey, K.M. (2005). Practical English Language Teaching: Speaking. New York : McGraw-Hill.
Brown, H. D. (2001) Teaching by Principles: An interactive approach to language pedagogy (2thedition) New York: Longman.
Dörnyei, Z. (1995). On the teachability of communication strategies. TESOL Quarterly, 29(1), 55-85.
Ellis, R.  (1984).  Classroom second language development. Oxford: Pergamon.
Faerch, Claus, and Kasper, Gabriele. (1984). Two ways of defining communication strategies. Language Learning 34 : 45-63.
Graddol, D. (2006). English next. London, England : British Council. [Online]. Accessed 20 February 2015. Available from http://www.britishcouncil.org/learning-research-english-next.pdf
Harmer, J. (1991). The Practice of English Language Teaching, London : Longman.
Lam, and Wong. (2000).  The effect of strategy training on developing discussion skills
in an ESL Classroom. ELT Journal 54 : 245-258.
Liskin – Gasparro, Judith E.  (1996).  Circumlocution, Communication Strategies, and the ACTFL Proficiency Guidelines: an Analysis of Student Discourse. Foreign Language Annals 29 (3): 317-330.
Paribakht, T. (1985). Strategic competence and language proficiency. Applied Linguistics. 6(2), 132-146.
Thongpan, A. (2015) Needs Analysis of Communication Tasks for English-Major Students at Roi-et Rajabhat University. Paper published in the proceedings of The 1st International Conference on Research and Education, Art, Management and Science (I-CREAMS) 2015(August 27-29,2015) Roi-et, Thailand.
Willis, J. (1996). A Framework for Task-based Learning. Harlow : Longman.







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น